สมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนปลาย


การเมืองการปกครอง
        
                1. สมัยรัชกาลที่ 7
        1.1 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้น 5 สภา คือ
1) อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสภาที่ปรึกษาราชกากรแผ่นดิน ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถและมีความชำนาญในงานราชการมาแต่ก่อน 5 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จฯเจ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมาพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำราราชานุภาพ สมเด็จฯ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
2) องคมนตรีสภา ช่วยทำหน้าที่บริหารประเทศ คล้ายกับรัฐสภาในปัจจุบัน สมาชิกประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ มีความสามารถเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทำหน้าที่เสนอความคิดเห็นในเรื่องราชการแผ่นดิน วินิจฉัยเรื่องต่างๆ ที่ทรงปรึกษา
3) เสนาบดีสภา ประกอบด้วยเสนาบดีประจำกระทรวง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือเกี่ยวกับราชการกระทรวงต่างๆ
4) สภาป้องกันพระราชอาณาจักร ทำหน้าที่ในการติดต่อประสารงานกับกระทรวงต่างๆ คือ กระทรวงกลาโหม ทหารเรือ ต่างประเทศ มหาดไทย และพาณิชย์ เพื่อป้องกันประเทศ
5) สภาการคลัง มีหน้าตรวจตรางบประมาณแผ่นดิน และรักษาผลประโยชน์การเงินของประเทศ
        1.2 การจัดการปกครอง มีการจัดการปกครอง ดังนี้
1) การปกครองส่วนกลาง เนื่องจากในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฐานะทางการเงินภายในประเทศตกต่ำอันเป็นผลมาจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัชกาลที่ 7 จึงทรงแก้ปัญหานี้โดยใช้นโยบายดุลยภาพ คือ การตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดงานและคนให้สมดุลกันแบะยุบตำแหน่งราชการที่ซ้ำซ้อนกัน ในการบริหารราชการส่วนกลาง เดิมสมัยรัชกาลที่ 6 มีกระทรวง 12 กระทรวง (โดยเพิ่ม 2 กระทรวง จาก 10 กระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ กระทรวงทหารเรือ และกระทรวงพาณิชย์) คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทหารเรือ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงวัง กระทรวงเมือง(นครบาล) กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพาณิชย์
รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยยุบกระทรวงทหารเรือไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และรวมกระทรวงโยธาธิการกับกระทรวงพาณิชย์เข้าด้วยกัน จึงเหลือเพียง 10 กระทรวง
2) การปกครองส่วนภูมิภาค ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการปกครองส่วนกลาง รัชกาลที่ 7 ทรงใช้นโยบายดุลยภาพโดยยุบเลิกตำแหน่งปลัดมณฑล ตำแหน่งอุปราชประจำภาค ยุบเลิกมณฑลบางมณฑล บางจังหวัดให้ลดฐานะเป็นอำเภอตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ยุบจังหวัดพระประแดง หลังสวน มีนบุรี สายบุรี ธัญบุรี ตะกั่วป่า หล่มสัก และรวมสุโขทัยเข้ากับสวรรคโลก
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเริ่มทดลองการปกครองแบบเทศบาล เพื่อให้ราษฎรได้เรียนรู้การปกครองตนเอง ทรงตราพระราชบัญญัติการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก เมื่อ พ.ศ.2469 โดยจัดตั้งสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตก มีอาณาเขตตั้งแต่ตำบลชะอำไปถึงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การปกครองแบบเทศบาลนี้มีผลดี คือ เป็นการฝึกหัดให้ประชาชนเกิดความชำนาญในการปกครองตนเอง อันเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
        1.3 การเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการพระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.2474 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร ก็ทรงมอบหมายให้พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ได้กราบทูลคัดค้านว่า ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะราษฎรยังไม่มีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยดีพอ รัชกาลที่ 7 จึงทรงต้องเลื่อนการพระราชทานรัฐธรรมนูญออกไป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

        1.4 การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1) คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ได้รับอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยม และแบบแผนประชาธิปไตยของตะวันตก จึงต้องการนำมาปรับปรุงประเทศชาติ
2) เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้
3) ประเทศญี่ปุ่นและจีนได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทำให้ประชาชนต้องการเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายในบ้านเมืองเร็วขึ้น
4) เกิดความขัดแย้งระหว่างพระราชวงศ์กับกลุ่มที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งไม่พอใจที่พระราชวงศ์ชั้นสูงมีอำนาจและดำรงตำแหน่งเหนือกว่าทั้งในราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ทำให้กลุ่มผู้จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงบ้านเมือง
5) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่อาจทรงใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง ทำให้ผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองรู้สึกว่าพระองค์ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลขอพระราชวงศ์ชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ได้ยับยั้งพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจพระบรมวงศานุวงศ์และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้น
        1.5 คณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง “คณะราษฎร” เป็นชื่อที่คณะผู้ก่อการปฏิวัติเรียกตนเอง ประกอบด้วย
1) ฝ่ายทหาร มีบุคคลสำคัญ คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวห้าคณะปฏิวัติซึ่งรับผิดชอบในด้านการวางแผน อำนายการและดำเนินการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครอง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุเสน) พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ(วัน ชูถิ่น) พ.ต.หลวงพิบูลยสงคราม (แปลก ขีตะสังคะ) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการรวมพรรคพวก น.ต.หลวงสินุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) น.ต.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
2) ฝ่ายพลเรือน มีบุคคลสำคัญ คือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นมันสมอง ของคณะราษฎร ซึ่งหน้าที่จัดร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดลักษณะการบริหารต่างๆ ภายหลังการปฏิวัติ รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์)



คณะราษฎร

        1.6 นโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลัก 6 ประการ ซึ่งประกอบด้วย
1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2) จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มากและสร้างความสามัคคี
3) จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรให้ทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยาก
4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน หมายถึง สิทธิเสมอกันทางกฎหมาย จึงได้มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์แต่นั้นมา
5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปอย่างราบรื่นก็ต่อเมื่อราษฎรได้รับการศึกษาในระดับดี
        1.7 การพระราชทานรัฐธรรมนูญ ขณะที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิบัติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะราษฎรได้ทำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงยอมรับข้อเสนอของคณะราษฎร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบสุขของประชาราษฎร์ ไม่ต้องการเสียเลือดเนื้อกัน ถ้าเกิดจลาจลจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย
นอกจากนี้นพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบผลสำเร็จ โดยไม่มีการใช้กำลังรุนแรงแต่อย่างใด พระองค์เสด็จกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งอำมาตย์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะราษฎรบางคนได้ร่างขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย พระองค์จึงได้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
         1.8 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2475  มีดังต่อไปนี้
1) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นประธานของฝ่ายบริหาร ทรงมีพระราชอำนาจตามขอบเขตแห่งกฎหมาย
2) อำนาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด โดยกระจายอำนาจไปยังสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐบาลและศาล
3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระยะเริ่มแรก สมัยที่ 1 คณะราษฎรเป็นผู้จัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คน เป็นสมาชิกของสภา เมื่อถึงสมัยที่ 2 ภายใน 6 เดือน หรือเมื่อประเทศเป็นปกติเรียบร้อยให้มีสมาชิก 2 ประเภทคือ
ประเภทที่ 1 ราษฎรเลือกตั้งจังหวัด 1 คนเป็นอย่างน้อย ถือเกณฑ์ผู้แทนราษฎร 1 คน ต่อราษฎร 100,000 คน
ประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้เป็นสมาชิกในสมัยที่ 1 และผู้ได้รับเลือกเพิ่มเติม สมัยที่ 3 เมื่อราษฎรสอบไล่ได้ประถมศึกษาเกิดครึ่ง หรืออย่างช้าไม่เกิน 10 ปี สมาชิกประเภทที่ 2 เป็นอันยุติไม่มีอีกต่อไป
        1.9 เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สำคัญคือ
1) คณะราษฎรดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ แต่ไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ คือ
– คณะราษฎรเกิดความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งกบฏค่อยครั้ง
– คณะราษฎรเกิดความคิดเห็นแตกแยกกันในเรื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอขึ้นมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้โจมตีว่าโครงการดังกล่าวดำเนินตามหลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์และปฏิเสธที่จะนำมาปฏิบัติ
– ผู้แทนราษฎรมิได้มีบทบาทในฐานะเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มแข็ง หากแต่เป็นเพียงส่วนประกอบของรัฐสภาให้ครบรูปตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ทั้งนี้เพราะฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของสถาบันนิติบัญญัติ
– ประชาชนได้รับการศึกษาน้อย ยังไม่เข้าใจรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง
ภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว รัฐบาลคณะราษฎรก็ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ มีดังต่อไปนี้
1. พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
2. อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระประมุข ทรงใช้อำนาจนี้แต่โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
3. พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีสมาชิก 2 ประเภท จำนวนเท่ากันเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีสมาชิก ประเภทที่ 1 ได้แก่ สมาชิกราษฎรเลือกตั้งเข้ามา ประเภทที่ 2 ได้แก่ สมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
4. พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 นาย (จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) อย่างมาก 24 นาย (ส่วนที่เกินจากขั้นต่ำจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้)
5. พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ซึ่งจัดตั้งตามกฎหมาย พิจารณาพิพากษาอรรถคดี
2) วิกฤตการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เกิดความยุ่งยากทางการเมือง อันสืบเนื่องมาจากความคิดเห็นขัดแย้งในคณะรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ ดำเนินการตามหลักการของประเทศสังคมนิยม นอกจากนี้รัชกาลที่ 7 ยังได้มีพระบรมราชวินิจฉัยสอดคล้องกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในขณะเดียวกันพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกคำสั่งห้ามข้าราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกสมาคมเกี่ยงข้องกับการเมือง ซึ่งเท่ากับจะเป็นการล้มคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และออกพระราชบัญญัติการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นผลให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎรจึงปรากฏเด่นชัดขึ้น ในที่สุด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อำนาจของคณะราษฎรก็ได้คืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เดินทางกลับประเทศเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่
ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและกลุ่มผู้นิยมระบอบเก่า ทำให้พระองค์เจ้าบวรและพวกก่อการกบฏในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถูกฝ่ายรัฐบาลปรามได้ การกบฏครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อพระราชฐานะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งๆ ที่ทรงวางพระองค์เป็นกลาง เพราะคณะราษฎรเข้าใจว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการกบฏ ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 และคณะราษฎรจึงร้าวฉานยิ่งขึ้น ในต้น พ.ศ.2477 รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ต่อจากนั้นคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระอนุชา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สืบมาจนถึงปัจจุบัน

                2. รัฐธรรมนูญหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2.1 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2475 นั้น ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวหลายคราวที่ สำคัญได้แก่
1) เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นชื่อประเทศไทย พ.ศ. 2482
2) แก้ไขบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ยืดกำหนดเวลาบทเฉพาะกาลออกไป คือให้มีสมาชิกสภาประเภท 2 ต่อไปเป็นเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
2.2 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ไม่ราบรื่นนัก มีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลหลังครั้ง ระบบการปกครองจึงก้าวหน้าได้อย่างเชื่องช้า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2475
2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475
3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489
4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490
5) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492
6) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495
7) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502
8) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511
9) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2515
10) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517
11) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519
12) ธรรมนูญการปกครองอาณาจักรไทย พ.ศ.2520
13) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521
14) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534
15) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534
16) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
2.3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีสาระสำคัญดังนี้
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มีสาระสำคัญที่ควรนำมากล่าวคือ
1. รูปแบบของรัฐ  กำหนดว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวไม่อาจแบ่งแยกเป็นหลายๆ รัฐได้
2. ระบอบการปกครอง   ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   การปกครองแบบประชาธิปไตย หมายความว่า อำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากปวงชนชาวไทย   พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ดังนี้
1) อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา กล่าวคือ การตรากฎหมายออกมาใช้บังคับกับประชาชนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
2) อำนาจบริหาร คือ อำนาจในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายและกฎหมายพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ทางคณะมนตรี กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
3) อำนาจตุลากร คือ อำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือติดสินข้อพิพากษาหรือตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ทางศาล กล่าวคือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นหน้าที่ของศาลอันประกอบด้วยผู้พิพากษา ซึ่งมีอิสระในการใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดี และเป็นการดำเนินการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์


             3. รัฐสภา
รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งแยกกันประชุม แต่งบางครั้งประชุมร่วมกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประชาชนทุกจังหวัดมีสิทธิเสมอกันในการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละจังหวัดได้เพียงหนึ่งคน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิส) จำนวน 100 คน และสมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน ซึ่งจะได้เป็นเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดให้นำจำนวนราษฎรที่คิดคำนวณข้างต้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกผู้แทนราษฎรเพิ่มอีกคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกราษฎรหนึ่งคน
เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่ถึง 400 คน จังหวัดใดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนและให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีดังกล่าว แก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวน 400 คน
3.1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
3.2 บุคคลที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนในสมประกอบ
2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
3) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
3.3 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผูแทนราษฎร
1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิก
4) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน
5) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
(1) มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(2) เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้น
(3) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(4) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
(5) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
3.4 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
1) มีสัญชาติไทย
2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4) ผู้สมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้
(1) มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(2) เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้น
(3) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(4) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
(5) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
3.5 บุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
1) ติดยาเสพติดให้โทษ
2) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นคดี
3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
4) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
5) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ
6) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชาการเมือง
7) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
8) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
9) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
10) เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกคอรง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
11) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
12) เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่พ้นกำหนด 5 ปีนับตั้งแต่วันที่วุฒิสภามีมติจนถึงวันเลือกตั้ง
3.6 บุคคลที่ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
1) เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง
2) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ยังไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันสมัครับเลือกตั้ง
3) เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ในอายุของวุฒิสภาคราวก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง
4) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง


ระบบกฎหมายและการศาล
        กฎหมาย สมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกาศใช้ พ.ศ.2478 การปฏิรูปกฎหมายได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ ใน พ.ศ.2481 ไทยสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้อย่างเด็ดขาดและได้เอกสิทธิ์ทางการศาลอย่างสมบูรณ์ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
การศาล ใน พ.ศ.2478 สมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม แบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. ศาลชั้นต้น มีศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลคดีและเยาวชน
2. ศาลอุทธรณ์ พิจารณาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งมาจากศาลชั้นต้น
3. ศาลฎีกา พิจารณาคดีที่ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งมาจากศาลอุทธรณ์ ในชั้นนี้คำพิพากษาหรือคำสั่งถือเป็นที่สุด

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เศรษฐกิจ
        ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรกำหนดให้การปรับปรุงเศรษฐกิจเป็น 1 ในหลัก 6 ประการ ที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป และได้มอบให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้รางเค้าโครงการเศรษฐกิจของประเทศเสนอต่อรัฐบาล
ใจความสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ คือ รัฐบาลจะบังคับซื้อที่ดินทางกสิกรรมมาเป็นของรัฐทั้งหมด โดยจ่ายเงินเป็นพันธบัตรรัฐบาลแก่เจ้าของ รัฐจะจัดการเศรษฐกิจทั้งหมดในรูปของระบบ สหกรณ์ บุคคลที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี จะเป็นข้าราชการทำงานให้กับรัฐตามความสามารถและคุณวุฒิของตน โดยได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล หรือสหกรณ์ตามแต่จะกำหนดไว้
สรุปแล้ว เค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ เน้นให้ราษฎรใช้แรงงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง มีการดึงปัจจัยการผลิต 3 ประการ ที่ดิน ทุน และแรงงาน มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ได้รับการวิพากวิจารณ์ว่ามีแนวโน้มเป็นสังคมนิยม แม้แต่รัชกาลที่ 7 ก็ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ในที่สุดรัฐบาลไทยสมัยนั้นก็มิได้นำเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับดังกล่าวมาใช้
ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายสร้างชาติในทางเศรษฐกิจ คือ กระตุ้นให้ประชาชนช่วยตัวเองในทางเศรษฐกิจ เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน สนับสนุนให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ ส่งเสริมให้คนไทยหันมาค้าขาย ใน พ.ศ.2485 ได้ออกพระราชบัญญัติสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับคนไทย และต่อมาในปีเดียวกันได้จัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งออกพระราชบัญญัติคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย

การศึกษา วรรณกรรมศิลปกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
        1. การศึกษา ในต้นรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาของประชาชน โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลี โดยให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ่ายแทน เนื่องจากระยะนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนจำนวนมากไม่อาจเสียเงินศึกษาพลีได้
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรได้กำหนดให้การศึกษาเป็น 1 ในหลัก 6 ประการ ที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป โดยระบุความมุ่งหมายแห่งการศึกษาของชาติไว้ว่า ให้พลเมืองทุกคน ไม่เลือกเพศ ชาติ ศาสนา ได้รับการศึกษาพอเหมาะแก่อัตภาพของตน การศึกษาในระยะต่อมาจึงขยายไปสู่ประชาชนได้มากขึ้นในทุกระดับ เมื่อ พ.ศ.2475,2479 รัฐบาลเริ่มวางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2494,2503, 2520 ตามลำดับ
แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2494 มีสาระสำคัญ คือ เพื่อความสมบูรณ์ของการจัดการศึกษา ให้จัดการศึกษาเป็น 4 ส่วน ให้พอเหมาะกัน คือ จริยศึกษา พลศึกษา พุทธิศึกษา และหัตถศึกษา ทั้งนี้เพราะกรรมการร่างแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ มีความเห็นว่า หัตถศึกษามีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาบ้านเมือง โดยได้รับแนวคิดหรือวิธีการจัดการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ตามแผนการศึกษานี้ การศึกษาภาคบังคับมีเพียง 4 ปี และให้รัฐบาลถือว่าการศึกษามีความสำคัญเป็นอันดับแรกในกิจการของรัฐ
แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2503 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของชาติไปจากเดิมมาก ระดับประถมศึกษาได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 7 ชั้น แบ่งเป็นประโยคประถมศึกษาตอนต้น 4 ชั้น และตอนปลาย 3 ชั้น ระดับมัธยมศึกษาแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สาย ได้แก่ สายสามัญ 3 ชั้น และสายอาชีพมี 1-3 ชั้น แผนการศึกษาฉบับนี้ไดเน้นถึงองค์แห่งการศึกษา คือ จริยศึกษา พลศึกษา พุทธิศึกษาและหัตถศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการวางแผนเพื่อให้ผู้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จในแต่ละประโยคนั้น สามารถปฏิบัติและดำรงชีวิตอยู่ได้พอสมควรแก่อัตภาพ
แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2520 มีสาระสำคัญดังนี้ คือ เน้นให้จัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองดีมากที่สุด ส่วนความรู้ความสามารถต่างๆ ให้ความสำคัญรองลงมา การเรียนการสอนทั้งสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา ได้รับการจัดให้ประสมประสานกันทุกระดับ โดยให้เรียนวิชาชีพที่เหมาะสมแก่วัยทุกชั้นเรียน การจัดการศึกษาประถมและมัธยมจัดเป็นระบบ 6:3:3 คือประถมศึกษา 6 ชั้น มัธยมศึกษา 6 ชั้น แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ชั้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ชั้น
        2.วรรณกรรมและศิลปกรรม
2.1 วรรณกรรม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นมา กิจการพิมพ์และหนังสือพิมพ์เจริญขึ้นตามลำดับ เพราะมีผู้รู้หนังสือเพิ่มมากขึ้น หนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นสื่อสารกลางการติดต่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หนังสือพิมพ์จึงเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลสถาบันหนึ่งจนได้สมญาว่า “ฐานันดรที่สี่”
นวนิยายสมัยนี้เริ่มเปลี่ยนแนวจากการเลียนแบบโครงเรื่องและแนวคิดของตะวันตกมาเป็นนวนิยายที่มีลักษณะของตนเองมากขึ้น นักเขียนที่มีชื่อในระยะแรก ได้แก่ ศรีบูรพา ยาขอบ แม่อนงค์ ดอกไม้สด ฯลฯ ต่อมานักเขียนได้เริ่มหันมาสนใจปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้น เช่น ศรีบูรพา สด กูรมะโรหิต ศรรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ฯลฯ ปัจจุบันนักเขียนส่วนใหญ่มิได้มุ่งสร้างงานที่มีรูปแบไพเราะงดงามแต่อย่างเดียว แต่ได้คำนึงถึงเนื้อหาที่มีคุณค่าแกชีวิตด้วย และนวนิยายร่วมสมัยของไทยบางเรื่องก็เคยได้รับรางวัลระหว่างชาติมาแล้ว เช่น จดหมายจากเมืองไทย ของโบตั๋น ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นของ สปอ.ประจำปี พ.ศ. 2512 เรื่องคำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ ได้รับรางวัลซีไรท์ ประจำปี พ.ศ.2525
2.2 ศิลปกรรม ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลปัจจุบัน นอกจากจะมีลักษณะเป็นแบบศิลปะไทยแล้ว ยังได้ผสมผสานกับศิลปะตะวันตกอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้อย่างเด่นชัดในงานด้านสถาปัตยกรรม
1) ด้านสถาปัตยกรรม เป็นศิลปะไทยอย่างหยาบๆ นิยมสร้างตัวอาคารแบบตะวันตกแต่หลังคาทรงไทย เช่น หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขต) หอประชุมคุรุสภา โรงละครแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ (ท่าสุกรี) ศาลาว่าการกระทรวง และศาลาว่าการจังหวัดต่างๆ เป็นต้น
ส่วนที่สร้างแบบตะวันตก เช่น อาคารถนนราชดำเนิน ที่ทำการไปรษณีย์กลาง กรีฑาสถานแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
2) ด้านประติมากรรม เช่น อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์ที่สร้างแบบสากลสมัยใหม่ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระพุทธรูปต่างๆ เช่น พระพุทธปาวลีลา พระพุทธรูป ภ.ป.ร.
        3) จิตรกรรม สมัยรัชกาลที่ 7 มีการประชุมช่างเขียนภาพรามเกียรติ์ ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเขียนพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. ขนบธรรมเนียมประเพณี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมบางอย่างให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบใหม่ และให้เหมาะสมกับกาลเวลาได้แก่ การยกเลิกพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อ พ.ศ.2475 ตราพระราชบัญญัติกำหนดเครื่องแบบการแต่งกายข้าราชการให้เป็นไปตามแบบสากล เมื่อ พ.ศ.2478 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ประชาชนและสัญชาติด้วย เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.2484 เพื่อให้เป็นไปตามแบบสากลและในปีเดียวกันนี้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ชักชวนให้บุคคลสำคัญๆ ถวายบังคับลาออกจากบรรดาศักดิ์จนกระทั่งได้มีพระบรมราชโองการยกเลิกบรรดาศักดิ์เป็นโมฆะใน พ.ศ.2488
สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายรัฐมนตรี พ.ศ.2501-2506 ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติหลายอย่าง เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ.2503 พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พ.ศ.2504 พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญใน พ.ศ.2503
สมัยจอมถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2506-2516 ได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีรัชดาภิเษก พ.ศ.2514 พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ.2515


ภาพเขียนพระราชพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


การต่างประเทศ
การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สำคัญคือ
        1. ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2482-2488 ทำให้เกิดความเสียหายแก่มนุษยชาติอย่างมากมาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม สาเหตุของสงครามครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เคยมีมาแต่เดิมให้หมดไปได้ และการทำงานของสันนิบาตชาติขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งการพิพากกันได้ สำหรับสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ความเสียหายที่ไทยได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยยังนับว่าน้อยมาก
        1.1 สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนี้
1) สนธิสัญญาแวร์ซายส์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เยอรมนีไม่พอใจในเงื่อนไขของสนธิสัญญานี้ เยอรมนีต้องเสียดินแดนในยุโรปไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าปฏิมาสงครามอื่นๆ อีก ทำให้ภาระในประเทศยุ่งยากทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สนธิสัญญาฉบับนี้ลงโทษเยอรมนีอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้เยอรมนีคิดแก้แค้นโดยการก่อนสงครามขึ้น
2) ปัญหาเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และระหว่าง พ.ศ.2472-2475 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มในสหรัฐอเมริกาก่อน และได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้น ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้คนว่างงานเพิ่มมากขึ้น มีการตั้งกำแพงภาษี เพื่อกันสินค้าต่างประเทศและทำให้ลัทธิเผด็จการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว โดยอาศัยความรุนแรงและเฉียบขาด
3) ความไม่ร่วมมือกันของประเทศมหาอำนาจ ประเทศสหรัฐอเมริกามีนโยบายอยู่โดดเดี่ยว โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเทศใดๆ ในยุโรป (ตามวาทะมอนโร) อังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็แก้ไขปัญหาภายในประเทศของตน ซึ่งขณะนี้เยอรมนีไม่พอใจฝรั่งเศสอยู่และท่าที่ของอังกฤษที่ผ่อนปรนให้เยอรมนี แต่ก็ไม่อาจทำให้เยอรมนีลดความก้าวร้าวลงได้ ฝรั่งเศสเองก็หวาดระแวงจากเยอรมนีอยู่มาก แต่จะทำการขัดขวางก็ยังไม่พร้อมเพราะขาดการสนับสนุนจากอังกฤษ
4) ความแตกต่างของลัทธิการปกครอง ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้หลายประเทศหันไปใช้ระบบการปกครองแบบเผด็จการและคอมมิวนิสต์ เช่น ประเทศเยอรมนีและประเทศอิตาลี หันไปใช้การปกครองแบบเผด็จการจึงเป็นพันธมิตรกัน และมีแนวคิดต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
5) ความล้มเหลวของสันนิบาตชาติ องค์การสันนิบาตชาติได้เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ องค์การนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาสันติภาพของโลก แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว สันนิบาตชาติทำงานไม่ได้ผลหลายประการ เช่น กรณีญี่ปุ่นรุกรานจีน อิตาลีโจมตีบิสซิเนีย ครั้นสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในสเปน ประเทศมหาอำนาจก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวและท้ายที่สุดฮิตเลอร์ได้ส่งกำลังเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ คือ ออสเตรีย และเชโกสะโลวะเกีย โดยไม่มีประเทศใดต่อต้านอย่างจริงจัง ในที่สุดเยอรมนีจึงใช้กำลังโปแลนด์ ทำให้ฝ่ายตะวันตกไม่ยอมอีกต่อไป สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ.2482
        1.2 ประเทศที่ร่วมสงคราม ประเทศที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ
1) ฝ่ายอักษะ มีประเทศที่สำคัญ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
2) ฝ่ายสัมพันธมิตร มีประเทศที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เป็นต้น


สงครามโลกครั้งที่ 2
        1.3 การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ในยุโรป ประเทศไทยได้พยายามไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรักษาความเป็นกลาง แต่เมื่อสงครามได้ขยายตัวเข้ามาในอินโดจีน หลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมนี ไทยมีความเห็นว่า ฝรั่งเศสน่าจะคืนดินแดนที่แบ่งจากไทยไปและเสนอให้มีการปักเขตแดนกันใหม่ แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้และยังละเมิดพรมแดนไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2483 ไทยสามารถยึดดินแดนค้นได้หลายแห่ง และก่อนที่สงครามครั้งนี้จะยุติญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ย โดยฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนที่ไทยเสียไปตามสนธิสัญญา พ.ศ.2449 (ปัจจุบันคือ ลาวและกัมพูชา)ให้แก่ไทย
แต่แล้วในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นได้บุกโจมตีประเทศไทยตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ฝ่ายประเทศไทยได้พยายามต่อต้านแต่ก็สู้กำลังทัพของญี่ปุ่นไม่ได้ ไทยจึงต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย ซึ่งขณะนั้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และสหรัฐอเมริกา การประกาศสงครามของประเทศไทยในครั้งนี้ คือ ประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา การประกาศสงครามของประเทศไทยครั้งนี้ มีคนไทยหลายกลุ่มทั้งภายในและภายนอกประเทศไม่เห็นด้วย ภายในประเทศมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ส่วนในต่างประเทศต่างมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้า กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านใต้ดินซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” ทำการต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความร่วมมือกับสัมพันธมิตร เพื่อปลดปล่อยประเทศให้พ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่น
        1.4 ผลของสงครามที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในระหว่างสงคราม ซึ่งไทยได้ทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่น คือ คืน  ดินแดนกลันตัน ตรังการู ไทรบุรี ปะลิส เชียงตุง และเมืองพานให้กับอังกฤษ คือดินแดนล้านช้าง เสียมราฐ พระตะบอง และจำปาศักดิ์ให้แก่ฝรั่งเศส หลังจากสงครามสงบแล้ว อังกฤษและฝรั่งเศส ได้รวมประเทศไทยอยู่ในฐานะประเทศแพ้สงคราม ส่วนสหรัฐอเมริกายอมรับการประกาศสงครามของไทยเมื่อ พ.ศ.2485 ว่าเป็นโมฆะ และไม่ได้เรียกร้องให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายอย่างใด เพราะถือว่ารัฐบาลที่ประกาศสงครามตกอยู่ใต้อำนาจบังคับญี่ปุ่น
ต่อจากนั้นประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ในตอนแรกประเทศฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน มีทีท่าว่าจะคัดค้านการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย รัฐบาลไทยจึงต้องทำความตกลงกับประเทศทั้ง 3 นี้ หลังจากนั้นประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2489 นับเป็นสมาชิกอันดับที่ 55 และรัฐบาลไทยทุกคณะได้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ ตลอดจนให้ความร่วมมือช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของสหประชาชาติเสมอมา เช่น การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยลิทธิมนุษยชน การส่งเสริมฐานะขอคนงานเด็กและสตรี การร่วมมือในการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึมในประเทศลาว การประกาศยกเลิกการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทย ฯลฯ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีสำนักงานใหญ่หลายสำนักงานขององค์การสหประชาชาติตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานภูมิภาคของโครงการพัฒนาสหประชาชาติ กองทุนสงเคราะห์เด็กและองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
        1.5 ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากองค์การสหประชาชาติ ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากองค์การสหประชาชาติและองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในด้านเศรษฐกิจและวิชาการ ซึ่งจะเป็นไปในรูปการให้ทุนแก่คนไทยไปรับการศึกษาอบรม การส่งผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติงานตามโครงการต่างๆ และการให้วัสดุอุปกรณ์ตามโครงการต่างๆ ในด้านการพัฒนาประเทศจำนวนมาก เช่น โครงการในการปรับปรุงการศึกษาระดับต่างๆ โครงการข้าว การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อม การปรับปรุงสวนยาง โครงการสงเคราะห์แม่และเด็ก การควบคุมปราบปรามโรคมาลาเรีย คุดทะราด ฯลฯ นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังเป็นศูนย์กลางร่วมมือระหว่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น โครงการเขื่อนอเนกประสงค์ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งด้านการชลประทาน พลังงานไฟฟ้า การควบคุมอุทกภัย เป็นต้น
        2. ความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับนานประเทศ
        2.1 ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงอย่างแน่นแฟ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ทั้ง 5 ประเทศนี้ ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมอาเซียน( Association of Southeast Asian Nation : ASEAN) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ ร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจและสนับสนุนนโยบายเป็นกลาง ไม่ผูกพันกับค่ายหรือฝ่ายใด สำหรับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสังคมนิยม ประเทศไทยก็ได้พยายามรักษาความสัมพันธ์อันดี ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ระหว่างประเทศ และ พ.ศ.2527 บรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียนอีกประเทศหนึ่ง
        2.2 ความสัมพันธกับกลุ่มประเทศตะวันตก ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศตะวันตกหลายด้าน เช่น โครงการร่วมมือทางด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในต่างประเทศ ส่วนด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นเวลานาน ไทยส่งสินค้าหลายชนิดไปขายในประเทศยุโรปตะวันตก และประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ดีบุก น้ำตาล ยางพารา สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ ที่ไทยสั่งซื้อจากประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องจักร และสินค้าประเภทกึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำมาป้อนโรงงานในประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีบทบาทผูกพันกับองค์การค้าระหว่างประเทศบางแห่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น คณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ (Interntional Tin Council) และองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Agreement)
        2.3 ความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศสังคมนิยม ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศสังคมนิยมไม่มากนักที่มาติดต่อค้าขายกันในระยะหลังเท่านั้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยสนใจที่จะให้มีความร่วมมือในด้านวิทยาการต่างๆ กับประเทศสังคมนิยมมากขึ้น เช่น ได้มีข้อตกลงร่วมกับประเทศโรมาเนีย ในอันที่จะร่วมมือกันในด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการและวิชาการ นอกจากนี้ยังได้มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการและวัฒนธรรม เช่น ได้ส่งนาฏศิลป์มาแสดงในประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ.2515 และนำเอาโบราณวัตถุที่มีค่ามาแสดงให้คนไทยได้ชม และใน พ.ศ. 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้นได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย สำหรับประเทศสหภาพโซเวียตก็ได้มีความร่วมมือกับไทยทางด้านวัฒนธรรมเช่นกัน เช่น การส่งคณะบัลเลย์มาแสดงในประเทศไทย เป็นต้น

ที่มา: https://kinginthailand.wordpress.com/2012/02/23/สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาล/

Comments

Popular posts from this blog

สมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น